วันนี้ทีม #vronline ไปทำ Site Survey Office ลูกค้ามา เจอปัญหาที่น่าสนใจเลยเอามาเล่าให้ฟังครับ
ลูกค้าให้ ISP มาติดตั้ง Internet แล้วก็ให้วางอุปกรณ์ไว้ตรงกลางห้อง โดยที่วางไว้บนตระแกรงเหล็ก ที่ทำเป็นเพดานแบบ Loft เพื่อให้รัศมี WIFI สามารถกระจายไปรอบๆได้
ซึ่งถ้าดูจากสายตาคนทั่วไปดูอาจจะไม่รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร
แต่ในเชิง Network Engineer และในงานด้าน Wireless LAN เราจะเจอปัญหานึงที่เรียกว่า WIFI Multipath Effect ซึ่งผลที่ตามมาทำให้เราเจอปัญหา Data Rate Flapping ครับ
อาการของมันก็คือ การเชื่อมต่อของเรา จะเดี๋ยวเร็ว เดี๋ยวช้า ทั้งๆที่เรานั่งอยู่ที่เดิม ไม่ได้ขยับไปไหนนี่แหละ
ซึ่งการจะเล่าถึงปัญหานี้ได้ มันต้องพาไปเข้าใจเรื่องของ WIFI อีกหลายหัวข้อเลยครับ
สมัยก่อน อุปกรณ์ Wireless LAN จะมีเสาอากาศเพื่อ รับ-ส่งข้อมูลกับ Client ซึ่งสมัยก่อนที่นานระดับสิบกว่าปีเนี่ย เสาอากาศมันมีเสาเดียวครับ ซึ่งมันก็ใช้ส่งข้อมูลได้
แต่ต่อมาภายหลัง เราอยากจะเพิ่มความเร็วในการส่งข้อมูลให้เร็วขึ้น มากขึ้น เราก็ใช้วิธี เพิ่มเสาอากาศให้อุปกรณ์ ทั้งขาส่งและขารับ ซึ่งเทคโนโลยีนี้เรียกว่า MIMO (Multiple Input – Multiple Output)
การเพิ่มเสา ทำให้เพิ่ม Data Rate ขึ้นได้มากอย่างเห็นผลได้ชัด จนตอนนี้ Access Point ที่เป็นมาตรฐาน WIFI ใหม่ๆ ก็มีเสาเยอะกันแบบ 4-8 เสา กันเข้าไปเลย
ในฝั่ง Client ก็มีการเพิ่มเสาเหมือนกัน แต่เสาอาจจะไม่มากเท่าตัว Access Point ส่วนใหญ่เต็มที่ก็ 2-3 เสาเท่านั้น มือถือส่วนใหญ่ก็ยังเสาเดียวกันอยู่แล้ว
ในเชิงการรับส่งข้อมูล อุปกรณ์ Access Point ส่งสัญญาณออกมาตามเสาที่ตัวเองมี และ ฝั่งรับ ก็รับได้เท่าที่เสาที่ตัวเองมี จากนั้นก็จะคำนวน SNR แล้วก็กลายเป็นความเร็วในการเชื่อมต่อครับ
ถ้าว่ากันตามปกติ เราจะต่อ WIFI ได้เร็วหรือช้า ก็ขึ้นอยู่กับค่า SNR (signal to noise ratio) แต่ค่า SNR จะดี หรือไม่ดี ก็อยู่ที่ปัจจัยอุปสรรคในพื้นที่ครับ
ถ้าพื้นที่โล่งๆ ไม่มีใครมารบกวน ค่า SNR ของเราก็จะสูง ทำให้ความเร็วในการเขื่อมต่อได้สูงไปด้วย แต่ถ้ามีคลื่นรบกวน เช่น มีกำแพงมากั้น มีคนปล่อย WIFI มารบกวนใน Channel ที่ใกล้กัน หรือ Channel เดียวกัน ค่า SNR ของเราก็จะต่ำลงทำให้ได้ความเร็วในการเขื่อมต่อที่ลดลงไปด้วย
ทีนี้จากในรูปเนี่ย เราจะเห็นได้ว่า ลูกค้านำเอา Router ที่มีเสาอากาศ แบบ 5dBi ที่ชี้ขึ้นไปข้างบน ไปวางในบนตระแกรงเหล็ก แถมตอนใช้งานตัว User ก็อยู่ใต้ตระแกรงเหล็กอีกต่างหาก
คลื่นวิทยุที่ส่งออกมาจาก Access Point จะยิงออกมาแล้วก็ชิ่งเพดาน บางครั้งอาจจะสะท้อนตระแกรงโลหะ แล้วก็ชิ่งต่อไปเรื่อยๆอีก
ผลก็คือ คลื่นที่ส่งออกมาจาก Access Point กว่าจะมาถึงตัว User ก็วิ่งอ้อมไปก่อน แทนที่จะส่งได้ตรงๆ ผลก็คือ ทำให้ความเร็วในการเชื่อมต่อ ได้ไม่เต็มที่
และนอกจากนั้น ถ้ามีจังหวะที่เราไปเชื่อมกับคลื่นที่ชิ่งมาไม่ดี ความเร็วในการเชื่อมต่อก็จะแย่ไปอีก
และถ้าอยู่ในพื้นที่แบบนี้ ความเร็วในการเชื่อมต่อของเราก็จะดิ้นไป ดิ้นมา เดี๋ยวเร็ว เดี๋ยวช้า (ไม่สิ เรียกให้ถูกคือ เดี๋ยวช้า และช้ากว่าเดิม เข้าไปอีก)
ปัญหา WIFI Multipath Effect แบบนี้ จะแก้ได้ก็คือ ต้องย้ายคำแหน่ง Access Point ออกมาจากพื้นที่แบบนี้ แล้วเปลี่ยน Access Point ให้ไปใช้แบบ Celing Mount ตามด้วยต่อขายึดลงมาให้ต่ำกว่าตระแกรงเหล็ก ก็จะลดปัญหานี้ลงไปได้มากแล้วครับ