เรื่องเล่าจากหน้างาน : แก้ปัญหา WIFI โดนรบกวนอย่างหนักจากรอบข้าง

มาเล่าถึงงานแก้ไขปัญหา WIFI ของทีม #vronline ใน Office ลูกค้าที่โดนรบกวนอย่างรอบข้างอย่างมหาศาลครับ
เล่าคร่าวๆดังนี้ก่อน ลูกค้า มี Office อยู่ที่ชั้น 7,8 ของอาคารแห่งหนึ่ง
มีการทำระบบ Network โดย #vronline และใช้ UNIFI รุ่น U6-LR ติดตั้งเป็น Main Access Point ทั้งระบบ
ทั้ง 2 ชั้นมี Access Point รวมทั้งหมด 16 ตัว

โจทย์ในงานออกแบบก็คือ เพื่อให้ Client ใน Office สามารถทำงานบน WIFI ได้อย่างราบรื่น เพราะส่วนใหญ่เป็น Dev และ Officer ทั่วๆไป
เราวางระบบให้ที่นี่มาตั้งแต่ก่อน Covid จนกระทั่ง Covid มา Office ก็เสร็จ แต่พนักงานดันทำ Work from Home เลยไม่ค่อยได้เข้า Office

ในจังหวะที่พนักงานเข้ามา Office แบบ Full Load หลักร้อยกว่าคน แน่นอนว่ามีปัญหาเรื่อง throughput ในการใช้งานแน่ เว็บช้า อืด ประชุมออนไลน์แล้วภาพกระตุก

จริงๆ ตอนผมไปออกแบบระบบเพื่อติดตั้งเมื่อ 2 ปีก่อน แล้วก็ทำการ test throughput พบว่า ผลการทดสอยบก็ค่อนข้างออกมาดี แต่ทำไมปัจจุบันถึงเละขนาดนี้ล่ะ

จากนั้นเราก็ส่งทีมเข้าไป Support ครับ ซึ่งหลังจากการตรวจสอบ พบว่า Channel ที่เราจัดเอาไว้ โดนรบกวนจาก Access Point รอบข้าง ที่บอกตรงๆว่ามาจากที่ๆค่อนข้างไกลมาก ประมาณว่า มาจากบ้านคนโดยรอบนั่นแหละครับ
ขนาดอยู่บนตึกสูง 7-8 ชั้นยังโดนกวน ทำไมล่ะ??

เรื่องภาพรวมของการโดนกวน ผมตรวจสอบผ่าน Dashboard ของ UNIFI ซึ่งใน UNIFI จะมีการแสดงสิ่งที่เรียกว่า Channel Utilization หรือ การใช้งาน Bandwidth ที่ Access Point ตัวนั้นๆทำงานอยู่ใน Channel นั้นๆ
พอเปิดหน้า Utilization ออกมาก็แทบกริ๊ด .. Channel ที่เราจัดเอาไว้โดนรบกวนขั้นหนักมาก ชนิดที่ว่า Utilization ใน Channel เหลือให้ใช้งานกันแค่ 10-20% ถ้าดูจากในรูป ก็คือ จะเห็นว่า แถบสีเหลือง ที่ถือว่าเป็น “Interference หรือคลื่นรบกวน” เข้ามาใช้พื้นที่ใน Channel ของเราเยอะมากๆ

พอไปตรวจสอบผ่านการ Scan หน้างาน สิ่งที่พบเจอก็คือ มันโดนรบกวนจาก Access Point ที่อยู่รอบข้าง และเป็น Access Point ที่เปิด Channel Width กว้างถึง 160Mhz ครับ

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆก่อน

Channel Width คือความกว้างของช่องสัญญาณที่ Access Point ประกาศใช้ คิดซะว่าเหมือนขนาดของถนน ถ้าถนนกว้าง เราก็จะส่งข้อมูลได้เยอะขึ้น ซึ่งโดยทั่วๆไป ความกว้างของ Channel ก็จะมีตั้งแต่ 20Mhz , 40Mhz , 80 Mhz และ 160Mhz
แต่การประกาศ Channel จะต้องทำอยู่บนความถี่ ที่ทาง FCC หรือ กสทช ของประเทศนั้นๆกำหนดมาว่า จะใช้ได้ ย่านไหนบ้างและความถี่เท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ครับ ประเทศไทยอ้างอิง ความถี่ย่าน 5Ghz ที่สอดคล้องกับทางอเมริกา ดังนั้น ถ้าดูจากในรูป Channel ที่เราใช้ได้ก็จะตามรูปเลยครับ

ยิ่งเราเปิด Channel Width กว้างเท่าไหร่ โอกาสที่จำนวน Access Point ในพื้นที่เดียวกัน จะไม่มี Channel ชนกัน ก็จะน้อยลงไปเท่านั้นครับ
เช่นถ้าเราเปิด Channel Width ที่ 20Mhz เราก็จะสามารถมี Access Point 25 ตัว ในพื้นที่เดียวกันที่ Channel ไม่ทับซ้อนกันครับ

แต่ถ้าเราเปิด Channel Width ที่ 40Mhz เราก็จะมีจำนวน Access Point ที่ไม่ทับซ้อนกันเหลือแค่ 12 ตัวเท่านั้นเอง
ทีนี้ จุดที่ผมโดนรบกวนหนักๆก็คือ ในพื้นที่รอบๆมีการเปิดใช้งาน WIFI ที่มี Channel Width ความกว้างระดับ 160Mhz เยอะมากๆ และตัวอุปกรณ์ก็เสาใหญ่มาก ผลก็คือ ถึงแม้ว่าจะคลื่นรบกวนอ่อนๆ แต่มันก็มารบกวนตัว Access Point ของผมอย่างหนักจน Channel Utilization ไม่พอใช้งานครับ

พอเจอสถานการณ์แบบนี้ ก็ต้องแผ่นหนี จากการตรวจสอบ WIFI ที่มากวนเนี่ย จะมารบกวนผมในโซน UNII-1 กับ UNII-3 เป็นหลัก คิดว่าน่าจะเพราะตัว Access Point ที่มารบกวน น่าจะ setup แบบ Auto มา เพราะดูจากชื่อและผู้ผลิตที่ Scan ได้ แปลว่าน่าจะเป็น Router ของ Operator

ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้เข้าไป Setup อะไร ช่างที่ Setup มาขี้เกียจให้เกิดปัญหาก็เลย ปล่อยกำลังส่งแรงสุด , Channel Width เยอะสุด เพื่อที่ว่ากด Speedtest ให้มันได้เยอะๆ ลูกค้าจะได้ไม่บ่น

แต่ผลก็คือ มันสร้าง Interfere ให้รอบข้างขนาดหนักมาก เพราะจากการชนกันเละเทะขนาดนี้ ก็เลยกลายเป็นแว่า แทบไม่มีใครในพื้นที่ใช้งานกันได้นี่แหละครับ

ทีนี้ มันจะมีโซนตรงกลาง ที่เป็น UNII-2 กับ UNII-2 Extended ซึ่งเป็นโซนที่พวกเราเหล่า Network Engineer ไม่ค่อยอยากจะเข้าไปใช้เท่าไหร่ เพราะโซนนี่จะถูกรบกวนด้วย Weather Radar เยอะมากๆ ครับ เรดาห์ตรวจอากาศเนี่ย เค้ามี Priority สูงกว่า WIFI ในการใช้งานความถี่ที่ย่านนี้ ถ้าเค้าทำงาน Access Point ก็จะต้องหลบ
เวลา Access Point หลบ มันก็จะดับสัญญาณตัวเอง และไปทำงานใน Channel อื่นแทน ผลก็คือ Channel ที่เรา setup ไว้ก็จะเละเทะไปหมด และระหว่างที่มันดับตัวเอง Client ที่เกาะอยู่ก็จะหลุดหมดด้วย

การแก้ไขรอบแรก ผมก็ต้องเผ่นหนีมาที่โซน UNII-2 กับ UNII-2 Extend นี่แหละครับ
พอย้ายมาแล้ว ค่า Channel Utilization ดูดีขึ้น แต่ปัญหาก็คือ โดน Weather Radar กวนหนักมาก หนักจน User ใช้งานลำบาก เพราะ Access Point ติดๆดับๆ เพื่อหลบ Weather Radar เป็นว่าเล่นครับ
ทดสอบประมาณ 1 อาทิตย์หลังจากย้ายมาที่ UNII-2 และ UNII-2 Extend ก็พบไม่ไหว เลยต้องเข้าสู่มาตรการต่อไปครับ

  1. จากการทดสอบประมาณ 1 อาทิตย์ ทำให้เห็นว่า Weather Radar ในโซนนี้ทำงานที่ Channel ไหนหนักๆบ้าง นั่นก็คือ Channel 100,108 และ 136 ครับ
  2. ผมต้องคัดกรอง AP ในแต่ละโซน นั่นก็คือ ทำการแบ่ง Priority ของ AP ในพื้นที่ ว่าตัวไหน เป็น Priotiry ระดับ A,B,C เพื่อดูว่า พื้นที่ นี้ ยอมโดนรบกวนได้ เช่น ห้องพักผ่อน , ทางเดิน , ห้องประชุมที่นานๆใช้ที อาจจะต้องยอมลด Priority ลง เพื่อให้มันยอมโดนการรบกวนไปบ้าง
  3. แล้วก็จากการ Scan พบว่า โซน UNII-1 และ UNII-3 เนี่ย มันโดนรบกวนอยู่ปีกเดียวของ Office เพราะอีกปีกนึงเป็นห้องออกอากาศ ที่มีการบุผนังค่อนข้างหนา เลยทำให้การรบกวนจากภายนอกไม่ค่อยอาหารหนักมาก ดังนั้นในปีกนึงของอาคาร จึงเอา Channel นี้มาใช้ในโซนที่มีผนังอาคารหนา พอจะกั้นการรบกวนได้นั่นเองครับ
    และผลของการปรับแบบ Manual รอบที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้ ทำให้ได้ ผลของการรบกวน และ การโดนแย่ง Channel Utilization น้อยลงกว่าเดิม แต่ก็ยังไมไ่ด้ทดสอบใช้งานจริงนะครับ
    เดี๋ยว 1 อาทิตย์นี้จะทดสอบใช้งานจริง และเอา Report ไปรายงาน Owner พื้นที่ต่อไปอีกที
    ขอบคุณสำหรับการติดตาม Update สถานการณ์ครับ โอยหมดแรง
  4. ปล. ทิ้งท้ายไว้ซักหน่อย
    ถึงแม้ว่าอุปกรณ์ในปัจจุบัน จะออกแบบมาให้ปล่อยและรับ WIFI ที่ 160Mhz ได้ แต่ Network Engineer อย่างพวกเราก็แนะนำว่า ยังไม่ควรใช้ ถ้าในพื้นที่ของคุณมีคนอื่นอยู่ด้วยอย่างหนาแน่นจริงๆนะครับ เพราะมันกวนเละเทะจน แทบไม่มีใครใช้ได้เลย
    นี่จึงเป็นสาเหตุที่ เราต้องใช้ความถี่ใหม่ WIFI 6E ที่ความถี่ 6Ghz เป็นความถี่เพื่อ WIFI คนเดียวไม่มีใครมารบกวนครับผม
    ใครที่เปิด WIFI 160Mhz บนความถี่ 5Ghz ปัจจุบันอยู่ก็รบกวนปิดเถอะคร้าบได้โปรด

อ.ศุภเดช อดีตพิธีกรรายการแบไต๋ และ ล้ำหน้าโชว์ ตอนนี้กลายร่างมาเป็น Network Engineer เล่าเรื่องสนุกๆของปัญหาและวิธีการแก้ไขที่ไปเจอมาจากหน้างานให้ฟังกัน